โรคกลากที่หนังศีรษะ


โรคกลากที่หนังศีรษะ

พญ.นิอร บุญเผื่อน

สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อราบนหนังศีรษะและเส้นผม โดยเชื้อกลากอยู่ในกลุ่ม dermatophyte
เชื้อที่พบบ่อยมีความแตกต่างกันตามภูมิภาค จากการศึกษาในประเทศไทยพบว่า Microsporum canis
พบได้บ่อยที่สุด รองลงมาได้แก่ Trichophyton tonsurans
กลุ่มอายุที่พบบ่อย มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี
ความเสี่ยงในการเกิดโรค ได้แก่ เด็กเล็ก มีสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัข อยู่ในชุมชนแออัด ขาดสุขอนามัยส่วนตัวที่ดี
ภาวะทุโภชนาการ ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
อาการ พบได้หลายลักษณะทั้งนี้ขึ้นกับเชื้อกลากที่เป็นสาเหตุ
1. ชนิดแผ่นสีเทา เห็นลักษณะแผ่นสีเทาๆ มีขุย
เส้นผมจะเป็นสีเทาๆเพราะมีสปอร์ของเชื้อราไปเคลือบอยู่ด้านนอก ไม่ค่อยมีการอักเสบ
ผู้ป่วยอาจจะคันหรือไม่คันก็ได้ ผมเปราะหักง่าย หักเป็นตอสั้นๆประมาณ 2-3 มิลลิเมตรจากหนังศีรษะ
2. ชนิดจุดดำ เห็นเป็นจุดดำอยู่บริเวณรูขุมขน เนื่องจากเส้นผมหักคาอยู่ในรูขุมขน
มีเชื้อราจะแทรกเข้าไปอยู่ในเส้นผม หนังศีรษะอาจจะแดงเล็กน้อยและมีขุย
3. ชนิดอักเสบ มีตุ่มแดง ตุ่มหนองอยู่รอบๆรูขุมขน
4. ชนิดอักเสบมากและเป็นก้อนนูน เห็นลักษณะของก้อนนูนมีการอักเสบเป็นหนอง มีคราบน้ำเหลืองกรัง
มีสะเก็ดเกาะติดแน่น อาจพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณท้ายทอยโตและเจ็บร่วมด้วย มีโอกาสเกิดแผลเป็นได้
5. ชนิดอักเสบเรื้อรังมีสะเก็ดสีเหลือง มักมีการอักเสบของรูขุมขนเป็นเวลานาน มักหายเป็นแผลเป็น
หากสงสัยว่าเป็นกลากที่หนังศีรษะ แนะนำให้มาพบแพทย์
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
1. การขูดเอาขุยจากหนังศีรษะและเส้นผมไปตรวจด้วยวิธี KOH และส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์
2. การเพาะเชื้อรา
การตรวจพิเศษ เช่น การส่องไฟ Wood’s light ที่หนังศีรษะและเส้นผมในห้องมืด
เส้นผมที่ติดเชื้อราชนิดที่เกาะอยู่ภายนอก จะเรืองแสงสีเขียวให้เห็นได้ เช่น Microsporum canis
การรักษา
วิธีการรักษาหลัก คือ การรับประทานยา เนื่องจากกการทายาฆ่าเชื้อราไม่สามารถฆ่าเชื้อในต่อมขนได้และเส้นผมได้
โดยยาที่ใช้รักษาหลัก ได้แก่ Griseofulvin หากไม่ตอบสนองต่อการรักษาจึงพิจารณายาตัวอื่น
นอกจากนี้แนะนำให้ใช้แชมพู เช่น ketoconazole, selenium sulfide
ควบคู่ไปด้วยเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อรา
การป้องกัน
ควรสังเกตอาการของสมาชิกในครอบครัว เพื่อนที่ใกล้ชิด สัตว์เลี้ยงหากมีอาการผิดปกติควรรีบรักษา
ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น หวี หมวก ปลอกหมอน อุปกรณ์ตกแต่งผม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ


แชร์บทความนี้

ลัลลลิตาคลินิก

  • 9/41 Workplace ถนนราชพฤกษ์ – จรัญฯ ซอยบางแวก 69 แขวงบางแวก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ 10160
  • FB: lullalitaclinic
  • LINE: @lullalitaclinic

เฟสบุ๊ค

Copyright © 2016. All Rights Reserved.รับทำเว็บไซต์ by SiNGHADEVELOP CO.,LTD.